วงเวียน 22 กรกฎาคม ( 22 Karakadakhom Circle )
ววงเวียน 22 กรกฎาคม
เป็นวงเวียนน้ำพุ พื้นที่ของวงเวียนเกิดจากถนน 3 สายตัดกัน คือ ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรพันธ์ และถนนสันติภาพ วงเวียนแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ ทวีปยุโรป เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยไทยประกาศร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม รัสเซีย และอีกหลายประเทศ ต่อสู้กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรีย และตุรกี โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศเรียกพลอาสาสมัคร เพื่อจัดตั้งกองทหารส่งไปในงานพระราชสงคราม เมื่อฝึกหัดเสร็จเรียบร้อย ได้ส่งทหารหาญจำนวน 1,284 นายไปร่วมรบในมหาสงครามดังกล่าว และได้เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจนสงครามสงบ
การเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ ทวีปยุโรปนี้ ส่งผลให้เมื่อสงครามสิ้นสุดลงประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และการทหาร รวมทั้งสามารถเรียกร้องแก้ไขและยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของชาติมหาอำนาจที่เคยทำไว้กับประเทศไทย
นั้นเดิมบริเวณที่เป็นวงเวียน 22 กรกฎาคมเคยเป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ได้เกิดไฟไหม้ใหญ่ เพลิงเผาผลาญบ้านเรือนในบริเวณนี้ไปเกือบหมด เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล เห็นว่าเมื่อกลายเป็นพื้นที่โล่งแล้วก็ควรจะได้สร้างประโยชน์อื่นใด จึงได้นำความกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตัดถนนเพื่อความเป็นระเบียบของบ้านเมือง และให้มีวงเวียนเป็นรูปวงกลมในที่ถนนทั้งสามสายมาบรรจบกัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 120 เมตร เพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับก่อสร้างถาวรวัตถุอันเป็นประโยชน์และเป็นความสง่างามแก่พระนคร
เมื่อกระทรวงนครบาลได้นำโครงการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และพระราชทานนามว่า “22 กรกฎา” ซึ่งเป็นวันที่ทรงนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนทั้ง 3 สายรวมทั้งวงเวียนว่า “22 กรกฏา” ทั้งหมดหรือไม่ วงเวียนแห่งนี้เริ่มลงมือสร้างในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2461
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอเปลี่ยนชื่อถนน เนื่องจากการที่ถนนทั้ง 3 สายใช้ชื่อเดียวกันก่อให้เกิดความสับสนต่อการเรียกขานของประชาชน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสารประเสริฐคิดชื่อถนนประกอบพระราชดำริ ในที่สุดได้พระราชทานชื่อถนนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 ดังนี้
- ถนน 22 กรกฎา สายที่ 1 เปลี่ยนเป็นถนนไมตรีจิตต์
- ถนน 22 กรกฎา สายที่ 2 เปลี่ยนเป็นถนนมิตรพันธ์
- ถนน 22 กรกฎา สายที่ 3 เปลี่ยนเป็นถนนสันติภาพ
ส่วนชื่อเดิมว่า “22 กรกฎา” เป็นชื่อที่ประชาชนทั่วไปรู้จักคุ้นเคย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงเป็นชื่อวงเวียนตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
ที่มา : bkkmonument