ประตูมังกรและถนนเยาวราช ( Dragon Gate & Yaowarat Road )
ซซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (Royal Jubilee Gate) หรือซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย – จีน
ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนโอเดียน ส่วนต้นของถนนเยาวราชที่เปรียบดังหัวมังกรของถนนเส้นนี้ สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ. 2542 ชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท ห้างร้าน ประชาชน และหน่วยงานราชการจึงได้ร่วมใจกันจัดสร้างซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย – จีน หรือซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสดุดีแด่พระองค์ และเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์
ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยช่างผู้ชำนาญด้านศิลปกรรมของจีน จึงไม่น่าแปลกใจที่ซุ้มประตูแห่งนี้จะมีทั้งความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่ผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ที่ยอดหลังคาซุ้มประตู ประกอบด้วยมังกร 2 ตัว ชูตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542” และทองคำบริสุทธิ์ หนัก 99 บาท ที่หุ้มพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. หมายถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เหนือเกล้า
เพดานใต้ซุ้มประตูจารึกคำว่า “เทียน”หมายถึงฟ้า ตรงข้ามกับ “ตี้” หมายถึงดิน มุมทั้งสี่มีรูปค้างคาวหรือ “ฟู่” พ้องเสียงกับ คำว่าโชคลาภ ในภาษาจีนกลาง และต้นไผ่หรือ “เต็ก” ภาษาแต้จิ๋วแปลว่าคุณธรรม และเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา รัฐบาลจีนจึงได้มอบของขวัญล้ำค่าและเป็น มงคลให้กับรัฐบาลไทย เป็นสิงโตหยกขาวแกะสลัก จำนวน 1 คู่ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึงตัวละ 4 ตัน ตั้งอยู่ที่บริเวณซุ้มประตู
สิงโตหยกขาว (เพศผู้) เท้าเหยียบลูกแก้ว หมายถึง การมีลาภยศ อำนาจบารมี ชื่อเสียง สิงโตหยกขาว (เพศเมีย) เท้าซ้ายกุมลูกสิงโต หมายถึง มีลูกหลาน บริวารมากมาย และลูกหลาน บริวารทั้งหลาย อยู่ในกรอบแห่งความดีงาม สร้างแต่ชื่อเสียงที่ดีให้วงศ์ตระกูล เปรียบดังแม่ที่คอยสอน ตักเตือนลูกน้อยเมื่อยามเล็ก มีผู้คนนิยมมาขอพรจากสิงโตทั้งสองนี้เป็นจำนวนมาก โดยการนำกระเป๋าสตางค์ไปวางไว้ที่ปากสิงโตทั้งเพศผู้และเพศเมีย เชื่อกันว่าจะทำให้เงินทองไหลมาเทมา
หากยืนอยู่ใต้คานซุ้มประตู แล้วเงยหน้าขึ้นมองด้านบนจะเห็นแผ่นทองเหลืองที่สลักอักษรภาษาจีนว่า “เทียน” หมายถึง ฟ้าหรือสวรรค์ มี่มุมทั้ง 4 มีรูปค้างคาว 4 ตัว ภาษาจีนอ่านว่า “ฟู่” หมายถึง โชคลาภ ส่วนที่พื้นจะเห็นแผ่นโลหะตัวอักษรภาษาจีนสีเหลืองทอง เป็นจุดที่ชาวจีนเชื่อกันว่าเป็นจุดรับพลังชีวิตจากฟ้า ดิน และที่ลานพื้นจะมีอักษรจีน “ตี้” หมายถึง ดินหรือแผ่นดิน มุมทั้งสี่มีดอกบัวและต้นไผ่ หรือ “เต็ก” ที่ภาษาจีน แปลว่า คุณธรรม ซึ่งการได้มาเหยียบตรงแผ่นทองเหลืองก็เปรียบเสมือนการอยู่ภายใต้คุณธรรม วิธีสักการะคือการยกมือไหว้ทั้ง 4 ทิศ และนึกถึงคุณงามความดีที่จะกระทำ ถือเป็นการรับพลังอันยิ่งใหญ่ภายใต้พระบารมีซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรตินี้
ในอดีต บริเวณวงเวียนโอเดียนจะมีน้ำพุอยู่ตรงกลางวงเวียน และด้านหลังเป็นโรงภาพยนตร์โอเดียน กลางคืนจะมีสปอร์ตไลต์ส่องไปที่น้ำพุ มีสีสันสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของวงเวียนแห่งนี้ ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่เต็มไปด้วยร้านค้าและเป็นที่มาของชื่อเซียงกง ซึ่งเป็นแหล่งเครื่องยนต์มือสองและอะไหล่มือสองจากญี่ปุ่นยุคแรก ปัจจุบันยังมีร้านค้าเหล่านี้อยู่บ้างแม้จะไม่มากนัก
บริเวณใกล้เคียงของซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายแห่งที่สามารถแวะไปเที่ยวได้ในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ หลวงพ่อทองคำซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดไตรมิตร หรือหากต้องการที่จะหาอาหารอร่อยๆ รับประทานถนนเยาวราชตลอดทั้งสายก็เต็มไปด้วยของกินทั้งคาวหวานให้ได้เลือกกันตามพอใจ ไม่ว่าจะในเวลากลางวันหรือกลางคืน
ที่มา : palanla
ยย่าน ‘เยาวราช’ หรือไชนาทาวน์ กรุงเทพฯ
เป็นหนึ่งในไชนาทาวน์หรือชุมชนจีนนอกประเทศจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1
โดยชาวจีนอพยพที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวแต้จิ๋ว เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่แถวพระบรมมหาราชวังเดิม เมื่อมีการสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงให้ชาวจีนย้ายไปยังสำเพ็ง ก่อให้เกิดเป็นชุมชนจีนเกิดที่นี่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ. 2435 จึงทำให้ถนนเยาวราชเป็นย่านหลักของชุมชนจีน
ถนนเยาวราช เป็นถนนสายหลักของชุมชนชาวเยาวราช ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ถนนมังกร” โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราชและสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน
โดยตั้งแต่ยุคอดีตย่านเยาวราชเป็นย่านการค้าของชุมชนชาวจีนที่ได้รับความนิยมมากจากทั้งคนไทยและคนจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะมีสินค้าที่หลากหลาย และส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มากับเรือขนส่งจากจีน ซึ่งในทุกครั้งที่มีเรือขนส่งแวะมาจอดท่า ก็จะมีชาวจีนที่อพยพมาขึ้นเรือมาด้วย เพื่อมาหางานในประเทศไทย แต่ละยุคแต่ละสมัย เยาวราชก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยน คือ ความเป็นย่านการค้าของคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน
ธุรกิจการค้าในย่านเยาวราช มีความหลากหลาย ทั้งธุรกิจการค้า, การเงิน การธนาคาร, ร้านทอง, ภัตตาคาร ร้านอาหาร, ร้านค้า, เทปและซีดีสวดมนต์, ของเล่นเด็ก, ชุดกี่เพ้า, โคมไฟและผ้าแดงมงคล, เครื่องประดับ, ปฏิทิน, อาหารแห้ง, ห้างทอง รวมไปถึงโรงแรมที่พักต่าง ๆ โดยธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในย่านเยาวราช คือ ร้านขายทอง หรือนิยมเรียกกันว่า ห้างทอง ซึ่งมีตลอดแนวถนนเยาวราช จนทำให้เยาวราชได้ชื่อว่าเป็น “ถนนสายทองคำ” หลายร้านมีอายุเก่าแก่ เปิดตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบันก็มีปรับให้ทันสมัยมากขึ้น แต่บางร้านก็ล้มหายไป
ในอดีตย่านเยาวราชยังเป็นแหล่งรวบรวมความบันเทิงต่างๆ เช่น โรงภาพยนตร์และโรงงิ้วจำนวนมาก (ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว) รวมถึง มีอาคาร 7 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดของประเทศไทยในเวลานั้นด้วย สะท้อนให้เห็นภาพความรุ่งเรืองของพื้นที่แห่งนี้ โดยแม้ว่าวันเวลาที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ๆ แต่เยาวราชยังคงเป็นย่านการค้าชุมชนชาวจีนที่ไม่เสื่อมคลาย และยังคงเสน่ห์การค้าแบบดั้งเดิมไว้ได้พอสมควรสำหรับการอยู่อาศัย ที่ดินส่วนใหญ่ของย่านเยาวราชเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นการอยู่อาศัยแบบสิทธิการเช่าระยะยาว โดยในอดีตคนที่ค้าขายย่านนี้จะเปิดร้านด้านล่าง และใช้ชั้นบนในการอยู่อาศัย
แต่ปัจจุบันคนที่เป็นคนดั้งเดิม แม้จะยังทำการค้าอยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ชั้นบนของร้านแล้ว จะให้ลูกน้องอยู่อาศัยแทน ส่วนตัวเองจะขยับออกไปอยู่พื้นที่ใกล้เคียง หรือซื้อบ้านหลังใหญ่ หรือสร้างบ้านเองบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ
ที่มา : ddproperty
Gallery ประตูมังกร (วงเวียนโอเดียน)
ที่มา : mgronline
ที่มา : wikipedia
ที่มา : palanla
Gallery ถนนเยาวราช
ที่มา : ddproperty
ที่มา : palanla